| นกเป็ดผีเล็ก Little Grebe |
นกเป็ดผีเล็ก Little Grebe ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ดูเผินๆคล้ายนกเป็ดน้ำ ปากแหลมไม่แบนเหมือนนกเป็ดน้ำทั่วไป ตัวเล็กเท่ากำปั้น หางสั้นมาก ตีนไม่แบนอย่างตีนเป็ด นิ้วตีนแบนเป็นพาย ไม่มีแผ่นพังผืดขึงระหว่างนิ้ว แต่จะมีพังผืดแผ่ออกรอบๆนิ้วแต่ละนิ้ว มุมปากมีสีเหลือง ในฤดูร้อนบนหัวและคอ มีสีน้ำตาลแดง ด้านใต้ท้องมีสีมอๆ บนปีกเป็นสีเหลืองจาง ด้านบนของตัวมีสีเทาอมน้ำตาล ชอบดำน้ำไล่กินอาหารตามหนองบึงทั่วไป อยู่เป็นฝูงใหญ่ในฤดูร้อนในอ่างเก็บน้ำหรือบึงใหญ่ๆ ผสมพันธุ์ฤดูฝน จะแยกกันเป็นคู่ๆ ชอบกินลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกอ๊อด พืชในน้ำ ทำรังวางไข่บนจอกแหนที่ลอยอยู่เหนือน้ำตามหนองบึง วางไข่ครั้งละ 3 - 6 ฟอง ผลัดกันกกไข่ ราว 3 สัปดาห์ออกเป็นตัว ลูกนกจะตัวลายๆ ระหว่างที่กำลังกกไข่อยู่นั้น ถ้ามีสัตว์ที่ทำอันตรายเข้าไปใกล้ มันจะจิกใบจอกแหนมาปิดไข่ แล้วดำน้ำไปโผล่ดูอยู่ตามกอสวะ ถิ่นที่อยู่อาศัย อาฟริกา, ยุโรป, อินเดีย, จีน, ไหหลำ, ไตหวัน, ฟิลิปปินส์, ซุนดาห์, นิวกีนี, โซโลมอน, และประเทศต่างๆ ทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย สำหรับในประเทศไทย มีประปรายอยู่ทั่วไปทุกภาค | นกพริก Metopidius indicus (Bronze-winged Jacana) |
นกพริก Metopidius indicus (Bronze-winged Jacana) เป็นนกชนิดเดียวในโลกที่อยู่ในสกุลนกพริก(Genus Metopidius) และมีผู้ร่วมวงศ์ Jacanidae ในประเทศไทยเพียงอีกชนิดเดียวคือนกอีแจว (Pheasant-tailed Jacana) มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง 29 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน แต่ตัวเมียโตกว่าตัวผู้ สีดำเหลือบเขียวเกือบทั้งตัว หัวดำ อกดำ คิ้วขาวเห็นได้ชัด ปากมีสีเหลือง โคนปากและแผ่นเนื้อหน้าผากสีแดง คล้ายกับคาบพริกไว้ ปีกสีน้ำตาล ขนใต้หางสีน้ำตาลแดง นิ้วตีนและเล็บยาวมากกว่าขาของตัวเอง จึงทำให้เดินบนจอกแหนไม่จม เวลาเดินจะกระดกหางขึ้นเป็นจังหวะเรื่อยไป ชอบอยู่ตามหนองบึงทั่วไป ชอบเดินหากินบนจอกแหน อาหาร คือ ลูกกุ้ง ลูกปลา แมลง หน่อหรือต้นอ่อนของพืชน้ำ ผสมพันธุ์ประมาณเดือนพฤษภาคม - มิถุนายน ทำรังด้วยใบจอกแหน บนแพจอกแหนที่ลอยอยู่ในหนองบึง ตัวเมียวางไข่ครบ 3 - 4 ฟองแล้วก็ปล่อยให้ตัวผู้กกไข่และเลี้ยงลูกอ่อน ส่วนตัวเมียก็ไปทำรังหาคู่ใหม่ต่อไป นกตัวอ่อนสีหัวและคอเป็นสีน้ำตาล ถิ่นที่อยู่อาศัย อินเดีย, จีน, สุมาตรา, ชวา, พม่า, เขมร, โคชินไชนา, เวียดนาม, ลาวและไทย สำหรับประเทศไทยมีทุกภาค ยกเว้น ภาคตะวันตกเฉียงใต้ และตะวันออกเฉียงเหนือ
| นกกระสาแดง Purple heron |
นกกระสาแดง Purple heron เป็นนกน้ำในตระกูล Ardeidae มีถิ่นผสมพันธุ์อยู่ในแอฟริกา ยุโรปตอนกลางและตอนใต้ เอเชียใต้ และเอเชียตะวันออก กลุ่มที่อาศัยอยู่ในยุโรปจะอพยพลงสู่เขตร้อนในแอฟริกาในฤดูหนาว ส่วนกลุ่มที่อาศัยอยู่ในเอเชียก็จะมีการอพยพลงใต้ภายในทวีปเช่นกัน จัดว่าเป็นนกที่หายาก แต่เวลาที่อพยพจะพบเห็นได้บ่อยในภูมิภาคทางตอนเหนือของถิ่นผสมพันธุ์ นกชนิดนี้จัดเป็นนกขนาดใหญ่ โดยมีความสูง 80-90 เซนติเมตร ความกว้างของปีกสองข้าง 120-150 เซนติเมตร แต่มีลำตัวผอมบาง มีน้ำหนักเพียง 500-1,300 กรัมเท่านั้น มีลักษณะใกล้เคียงกับนกกระสานวล แต่ขนาดค่อนข้างเล็กกว่า และมีสีขนที่แตกต่างกัน โดยนกกระสาแดงจะมีขนสีน้ำตาลแดงเข้ม และเมื่อโตเต็มวัย ขนที่หลังจะเป็นสีเทาเข้มขึ้น จะงอยปากมีสีเหลืองและแคบบาง ซึ่งในตัวเต็มวัยจะมีสีสว่างขึ้น | นกกระแตแต้แว๊ด Red-wattled Lapwing |
นกกระแตแต้แว๊ด Red-wattled Lapwing เป็นนกที่มีขนาดเล็ก-กลาง (32-33 เซนติเมตร) ปากตรงและยาวปานกลางมีสีแดง โดยตอนปลายเป็นสีดำ คอค่อนข้างสั้น ปีกกว้างและปลายปีกมน หางยาวปานกลาง ขาค่อนข้างยาว ขาและนิ้วสีเหลือง นิ้วหลังเล็กมากลักษณะคล้ายเป็นติ่งออกมา และอยู่ในระดับสูงกว่านิ้วอื่นๆ ทั้งสองเพศมีลักษณะและสีสันเหมือนกัน โดยบริเวณหัว คอ และอกเป็นสีดำ ตัดกับสีทางด้านล่างลำตัวซึ่งเป็นสีขาวชัดเจน ด้านข้างของหัวมีลายทางสีขาวพาดจากบริเวณด้านล่างของตาไปจนจรดคอด้านข้าง จากตาข้างหนึ่งไปยังตาอีกข้างหนึ่งมีติ่งเนื้อ (wattle) สีแดงชัดเจน ด้านบนลำตัวสีน้ำตาลมีเหลือบสีม่วงและเขียว ในขณะที่บินจะเห็นปลายปีกสีดำ ขนคลุมโคนขนหางด้านบนสีดำ ขนหางตอนปลายสีขาว ถิ่นอาศัย,อาหาร นกกระแตแต้แว้ด หรือนกต้อยตีวิด เป็นนกประจำถิ่นของไทย พบทั่วทุกภาค ยกเว้นภาคตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ พบบ่อยและปริมาณค่อนข้างมาก กฎหมายจัดนกกระแตแต้แว้ดเป็นสัตว์ป่าคุ้มครอง
| เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ Black Baza |
เหยี่ยวกิ้งก่าสีดำ Black Baza อยู่ในวงศ์เหยี่ยวและนกอินทรี พบในเมืองไทย 43 ชนิด ลักษณะ : ปากสีเทางองุ้ม หัวหันและหงอนมีสีดำ ลำตัวสีขาวมีลายพลาดตามขวางสีน้ำตาล อมดำ ปีกมีสำดำ ขนาดประมาณ 33 เซนติเมตร พฤติกรรม มักหากินเป็นฝูง ชอบเกาะตามต้นไม้ และบินโฉบจับแมลงขนาดใหญ่กินเป็นอาหาร เป็นนกประจำถิ่นพบได้บ่อยในป่าดงดิบ ป่าโป่ง ภูเขา พบได้ทุกภาคของประเทศ | นกอัญชันคิ้วขาว White-browed Crake |
นกอัญชันคิ้วขาว White-browed Crake อยู่ในวงศ์นกอัญชัน พบในเมืองไทย 15 ชนิด ลักษณะ : ปากสีเหลืองอมเขียวโคนปากมีสีแดง ตาสีแดงมีแถบสีดำลากผ่านคิ้วสีขาว หัวและหน้าอกมีสีเทา คอและท้องสีขาว ลำตัวดานบนสีน้ำตาล โคนหางสีน้ำตาลแดง ขาสีเขียว ขนาดประมาณ 20 เซ็นติเมตร พฤติกรรม : ชอบหากินอยู่บนพืชน้ำ ชอบเดินสลับกับการวิ่ง แล้วหยุด เป็นระยะๆ ชอบกระดกหางตลอดเวลา และบางครั้งลงว่ายน้ำหากินด้วย สถานะภาพ : นกประจำถิ่น พบได้บ่อย พื้นที่อาศัย : บึงและหนองน้ำ แหล่งกระจายพันธุ์ : ภาตกลางและภาคใต้ | นกฮูก Collared Scops Owl |
นกฮูก Collared Scops Owl เป็นนกเค้าชนิดเล็ก ขนตามตัวโดยทั่วๆไปมีสีน้ำตาล ม่านตาสีน้ำตาลเข้ม ที่บนหลังมีแถบสีจางพันหลังคอคล้ายปลอกคอ ด้านท้องมีลายเป็นทางเล็กๆสีน้ำตาลอยู่ทั่วไป และเหนือตามีขนยาวตรงขึ้นไปคล้ายหู และมีสีน้ำตาลปนเนื้อ ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน มักส่งเสียงร้องเหมือนใครกู่ "วู๊" ชอบอยู่ตามป่า กินตั๊กแตน แลง กิ้งก่า และหนู วางไข่ในโพรงไม้ ถิ่นที่อยู่อาศัย ไหหลำ, อินเดีย, จีน, ซุนดาห์, ฟิลิปปินส์, ไทย, และทางภาคตะวันออกเฉียงใต้ของทวีปเอเชีย สำหรับประเทศไทยมีอยู่ทั่วไปทุกภาค | นกตบยุงป่าโคก Caprimulgus affinis |
นกตบยุงป่าโคก Caprimulgus affinis เป็น 1 ใน 6 ชนิดของนกตบยุงที่พบได้ในประเทศไทย นกตบยุงป่าโคกมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 25 เซ็นติเมตร เฉพาะความยาวหางประมาณ 11.1-11.7 เซ็นติเมตร มีจุดเด่นที่ทำให้แยกออกจากนกตบยุงชนิดอื่นๆได้อย่างชัดเจนคือ ในตัวผู้จะมีขนหางคู่นอกสุดเป็นสีขาวเกือบตลอดทั้งเส้น โดยมักเป็นสีเทาบริเวณปลาย ขณะที่นกตัวเมียไม่มีสีขาวที่ขนหางด้านนอก สีเข้มกว่านกตัวผู้ และบริเวณปีกมีลายสีน้ำตาลเหลืองถึงสีเนื้อเด่นชัดกว่า ในประเทศไทย นกตบยุงป่าโคกผสมพันธุ์ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ถึงเมษายน และในช่วงเมษายนถึงพฤษภาคมจะวางไข่บนพื้นดินโดยขุดให้เป็นแอ่งเล็กๆตื้นๆ หรือไม่ขุดเลย บางทีก็ระหว่างก้อนหินที่โผล่พ้นดิน หรือระหว่างกอพืช ซอกของรากไม้ วางไข่ครั้งละ1-2ฟอง เปลือกไข่สีชมพูหรือขาวอมเหลืองจางๆ มีลายขีด และจุดสีน้ำตาลแกมแดง หรือแดงเข้มทั่วฟอง ขนาด19-23.2มม.x25.8-33.2มม. พ่อและแม่นกช่วยกันกกไข่และเลี้ยงลูกนก โดยเมื่อแรกเกิดลูกนกจะมีขนอุยสีน้ำตาลปกคลุม แต่ก็สามารถมองเห็นเนื้อหนังของลูกนกได้ จากนั้นขนใหม่จะค่อยๆขึ้นมาแทนที่จนคล้ายตัวเมีย และเป็นไปตามเพศของนกต่อไป | นกตีทอง coppersmith barbet |
นกตีทอง coppersmith barbet เป็นนกที่มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16 เซ็นติเมตร เป็นนกโพระดกที่ตัวเล็กที่สุดจากจำนวน 13 ชนิด ที่พบในประเทศไทยและพบตัวได้บ่อยที่สุด เพราะสามารถพบเค้าได้ตามสวนสาธารณะ หรือที่ที่มีต้นไม้ร่มครึ้มหน่อยก็พบตัวเค้าได้ ถ้าที่ไหนมีนกตีทองอยู่หละก็ เราจะได้ยินเสียงเค้าก่อนจะเจอตัวแน่นอน อาหารของนกตีทองคือบรรดาผลไม้ต่างๆ เช่นไทร หว้า ตะขบ มะเม่า หนอน แมลง ไข่ ตัวอ่อนของแมลงนกตีทองเป็นนกประจำถิ่นของอนุทวีปอินเดีย ตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สุมาตรา ชวา บาหลี ฟิลิปปินส์สำหรับเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นนกประจำถิ่นที่พบทุกภูมิภาค เว้นตะวันตกและตะวันออกของเกาะตังเกี๋ย
| นกตะขาบทุ่ง Indian Roller |
นกตะขาบทุ่ง Indian Roller เป็นนกขนาดกลาง มีขนาดลำตัวประมาณ 33 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน ขนบนกระหม่อมมีสีเขียวแกมฟ้า เหลือง และน้ำตาล บริเวณคอ ไหล่ อก และหลังเป็นสีน้ำตาลแกมเขียว ปีกสีน้ำเงินแกมม่วง หางมีสีฟ้าคาดด้วยแถบสีน้ำเงิน บริเวณใต้ท้องและปีกเมื่อบินจะเห็นสีฟ้าสดแกมเขียว ปากหนาเรียวปลายแหลม และคอสั้น พบในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน อินโดจีน และในประเทศไทยพบอยู่ทั่วทุกภาค ยกเว้นทางตอนใต้ของภาคใต้ พบได้ที่ความสูงมากว่าหรือประมาณ 1,500 เมตร จากระดับน้ำทะเล นกตะขาบทุ่งกินทั้งแมลง หนอน ไส้เดือน ลูกกบ เขียด สัตว์เลื่อยคลาน และสัตว์เล็กๆ เป็นอาหาร | นกกินเปี้ยว Collared Kingfisher |
นกกินเปี้ยว Collared Kingfisher นกกินเปี้ยวมีความยาวจากปลายปากจดปลายหาง 24 ซม. ลำตัวค่อนข้างอวบ หัวโต มีปากยาวไม่สมตัว ความยาวของปากพอๆกับ ความยาวของหัว ปากใหญ่ กว้างตอนโคน ปาก แหลมตรง และ แข็งแรง สันปากบนแบนลงเล็กน้อย ปากล่างโค้งเข้าหา ปากบน มีประโยชน์ในการขบกระดองปูให้แตก (บ้าน-นก) โดยส่วนใหญ่เราจะพบนกกินเปี้ยวตามชายฝั่งทะเลทั่วประเทศไทย ตั้งแต่ตะวันออกไปจนถึงภาคใต้ แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราจะไม่พบเค้าเลยภายในแผ่นดิน มีรายงานว่าพบนกกินเปี้ยวตามสวนสาธารณะในเมืองบ้างเป็นครั้งคราว และเมื่อปีก่อนก็ได้พบเค้าเข้ามาจับคู่ทำรังในพุทธมณฑล นกกินเปี้ยวเป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย ที่หาพบได้ง่าย มีสีสันสดใสชวนมอง หากไปแถวป่าชายเลน ป่าโกงกาง ก็น่าจะได้พบพวกเค้าเกาะเสาอากาศบ้านคน หรือตามไม้โกงกางอย่างแน่นอน | นกจาบคาหัวเขียวBlue-tailed Bee-ester |
นกจาบคาหัวเขียวBlue-tailed Bee-ester ทั้งตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ปากสีดำไม่โค้งแหลมมากนัก หัวหลังและขนคลุมหลังตลอดจนปีกเป็นสีเขียวครึ่งของหลัง ขนคลุมโคนหางและหางเป็นสีน้ำเงิน มีขนคู่กลางของหางแหลมยื่นยาวออกไปประมาณครึ่งหนึ่งของหาง บริเวณแถบหน้าของตาและหลังของตาเป็นแถบสีดำ ม่านตาสีน้ำตาลแดง ถัดขอบตาลงมาเป็นสีขาวอมเหลือง ใต้คอเลยหน้าอกนิดๆเป็นสีน้ำตาล ท้องสีเขียวอ่อน ตีนดำ เวลาบินรูปปีกจะมีลักษณะคล้ายรูปสามเหลี่ยม ใต้ปีกเป็นสีน้ำตาล กึ่งบินกึ่งร่อน ขณะบินส่งเสียงร้องกริ๊วๆๆไปด้วย ชาวบ้านจึงชอบเรียก "นกกะติ้ว" ขนาดประมาณ 30 ซม.เมื่อโตเต็มวัยจากปลายปากถึงปลายหาง จะเจาะรูทำรังอยู่ริ่มตลิ่งที่ค่อนข้างสูงชันมีลักษณะดินปนทราย ลึกประมาณ 60 ซม. 90 ซม. วางไข่ประมาณ 2 - 4 ฟอง ทั้งตัวผู้และตัวเมียจะช่วยกันหาอาหารมาป้อนลูก อาหารจะเป็นพวกแมลงที่บินอยู่กลางอากาศ เช่น แมลงปอ ผีเสื้อ จะไม่กินอาหารหรือแมลงที่ตายแล้วหรืออยู่กับที่ ถิ่นที่อยู่อาศัย เนปาล, อินเดีย, ศรีลังกาและไทย สำหรับประเทศไทยมีทั้งนกอพยพและนกประจำถิ่น ในส่วนบริเวณภาคกลางและริมฝั่งแม่น้ำแควน้อยจะเป็นนกประจำถิ่น แต่สำหรับทางภาคเหนือจะเป็นนกที่อพยพเข้ามาหากิน และผสมพันธุ์ ส่วนภาคอื่นหรือบางส่วนก็จะหากินสักพักแล้วอพยพผ่านไป | นกอีวาบตั๊กแตน plaintive cuckoo |
นกอีวาบตั๊กแตน plaintive cuckoo มีขนาดตัว 21.5-23.5ซม ตัวผู้และตัวเมียมีสีสันลวดลายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง โดยตัวเมียจะมีขนสีน้ำตาลเข้มด้านบนลำตัว และสีอ่อนกว่าด้านล่าง มีลายสีดำกระจายทั้งตัวทำให้ดูเป็นนกตัวลายๆ ในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคม ซึ่งเป็นฤดูจับคู่ ผสมพันธุ์ นกอีวาบตั๊กแตนจะร้องมากเป็นพิเศษเพื่อประกาศอาณาเขต และร้องเรียกตัวเมีย โดยเสียงร้องของเค้าถ้าได้ยินจะจำได้ง่าย ประมาณ วี้ด วี้ด วี้ด วิ่ว วิ่ว วิ่ว วิ่ว (หรืออะไรใกล้เคียงนี้) นกอีวาบตั๊กแตนมักวางไข่ในรังของนกกระจิบตัวเล็กๆ และเขี่ยไข่ของเจ้าของรังทิ้ง เจ้ากระจิบก็หลงรักคิดว่าลูกในอุทร คาบข้าวมาเผื่อ คาบเหยื่อมาป้อน จนลูกอีวาบตัวโตกว่าแม่ เวลาป้อนอาหาร เหมือนลูกนกจะกินแม่นก เพราะเค้าจะอ้าปากให้แม่นกกระจิบมุดหัวเข้าไปป้อน มักชอบเกาะกิ่งโล่งๆ พบได้ง่ายแม้ตามสวนสาธารณะในเมือง ทุ่งหญ้าชานเมือง หรือบนเสาอากาศโทรทัศน์บ้านคน แต่ที่พุทธมณฑล นกชนิดนี้นิยมชมชอบเกาะต้นมะขามเทศเป็นพิเศษ | นกบั้งรอกใหญ่ Green-billed Malkoha |
นกบั้งรอกใหญ่ Green-billed Malkoha เป็นนกตัวไม่เล็กหางยาวที่มักพบกระโดดไปมาตามกิ่งไม้ ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางของนกชนิดนี้คือ 52-59.5เซ็นติเมตร โดยเป็นความยาวหางไปแล้วราว 38 เซนติเมตร ลำตัวยาวเพรียว ปากสีเขียวอ่อนค่อนข้างหนา หนังรอบตาสีแดงสด หัว คอ หลังคอเป็นสีเทา หลังและตะโพกสีเข้มขึ้นมาอีก ปีกและขนหางสีดำเหลือบเขียวเข้ม ปลายขนหางที่ไล่กันลงไปเป็นสีขาว ทำให้มองดูจากด้านหน้าแล้วเป็นบั้งสีขาวๆลดหลั่นกันลงไป นกตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน อาหารของนกบั้งรอกใหญ่คือตั๊กแตน จักจั่น แมลง ตัวบุ้ง หนอน ไข่ และตัวอ่อนของแมลง นอกจากนี้สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ อย่างกิ้งก่าบิน จิ้งเหลนป่า หรือ กระทั่งลูกนกในรังก็เป็นอาหารของนกชนิดนี้ได้ นกจะกระโดดไปมาตามกิ่งที่รกทึบของต้นไม้ เมื่อพบเหยื่อเล็กก็จิกกิน เมื่อพบเหยื่อตัวใหญ่ก็งับจนตายแล้วฉีกกิน นอกจากประเทศไทยแล้ว นกบั้งรอกใหญ่ยังเป็นนกประจำถิ่นของภาคเหนือและตะวันออกของภาคเหนือของอนุทวีปอินเดีย ใต้และตะวันตกเฉียงใต้ของจีน สุมาตรา และ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้เว้นคาบสมุทรมลายู และไม่พบในสิงคโปร์ | นกกาเหว่า (นกดุเหว่า) Common Koel (Asian Koel) |
นกกาเหว่า (นกดุเหว่า) Common Koel (Asian Koel) เป็นนกในวงศ์คัคคู (Cuculidae) มีขนาดใกล้เคียงกับอีกา ลำตัวเพรียวยาว ตาสีแดง หางยาวและแข็ง เท้าจับกิ่งไม้มีลักษณะพิเศษต่างจากนกชนิดอื่น คือสามารถจับกิ่งไม้ได้รอบโดยใช้นิ้วหน้า 2 นิ้ว และนิ้วหลัง 2 นิ้ว ตัวผู้มีสีดำ ปากสีเขียวเทา ส่วนตัวเมียสีน้ำตาลแก่ มีลายเป็นจุดขาวทั่วตัว พบตามสวนหรือป่าโปร่งทุกภาคในประเทศไทย นกกาเหว่าชอบกินแมลงต่าง ๆ งูบางชนิด กิ้งก่า จิ้งเหลน กบ เขียด นกเล็ก ๆ และผลไม้บางชนิด | นกกะปูดใหญ่ Greater Coucal |
นกกะปูดใหญ่ Greater Coucal อยู่ในวงศ์นกกะปูด Family Centropodudae นกในวงศ์นี้มีขนาดเล็ก - กลาง จนถึงขนาดกลาง ความยาวจาก ปลายปาก จดหาง 36 - 56 ซม. ปากแบนข้าง ค่อนข้างใหญ่ สันขากรรไกรบนโค้ง รูจมูกบางส่วนมีหนังปกคลุม , เหนือตา มีขนแข็งเรียงเป็นแถวขนบริเวณหัว คอ และ อก แข็ง, ปีกสั้น ปลายปีก มน, ขนปลายปีกยาวกว่าขนกลางปีกเล็กน้อย, หางยาวกว้างและเป็นหางบั้ง, แข้งไม่มีขนปกคลุม มี 4 นิ้ว ทุกนิ้วอยู่ในระดับเดียวกัน การจัดเรียงนิ้วเป็นแบบนิ้วคู่สลับ แต่นิ้วที่ 4 สามารถหมุนไปข้างหน้าได้ นิ้วที่ 1 (ชี้ไปทางด้านหลัง ) มีเล็บยาว และ ตรง ส่วนนิ้วอื่นมีเล็บเล็ก และโค้ง, ทั้งสองเพศมีสีเหมือนกัน ส่วนใหญ่บินได้ไม่ค่อยดี หากินสัตว์ขนาดเล็กและแมลงตามพื้นดิน นกในสกุลนี้ไม่เป็น นกปาราสิต (ไม่วางไข่ ให้นกอื่น ฟัก), รังสร้างบนพุ่มกอหญ้า หรือ พุ่มไม้ใกล้พื้นดิน เป็นรูปทรงกลม ทำด้วยหญ้า มีทางเข้าออกทางด้านข้าง | นกเค้าโมง, นกเค้าแมว Asian Barred Owlet |
นกเค้าโมง, นกเค้าแมว Asian Barred Owlet เป็นนกเค้าขนาดเล็กที่มีลายสีน้ำตาลทั่วทั้งตัว ด้านใต้ของลำตัวเป็นสีขาวและมีลายสีขาวในแนวตั้งลากยาวขึ้นมาที่บริเวณอกอย่างไม่เป็นระเบียบ มีม่านตาสีเหลือง นกในวัยเด็กจะมีลวดลายบนหัวเป็นจุด รูปร่างหน้าตาและเสียงร้องทำให้พวกมันถูกตราหน้าว่าเป็นสัตว์อัปมงคล เนื่องจากนกเค้าทุกชนิดมีหัวที่ค่อนข้างโตและมีดวงตากลมโตอยู่ที่ด้านหน้าของหัวต่างจากนกส่วนใหญ่ที่มีตาอยู่ด้านข้าง นกเค้าหลายชนิดมีเสียงร้องก้องกังวานและโหยหวน คนสมัยโบราณเชื่อว่าเป็นลางบอกเหตุร้ายหากพบเห็น แต่สำหรับคนที่ชอบดูนกแล้ว การได้เจอตัวนกเค้านั้นถือเป็นอะไรที่น่าตื่นเต้นทีเดียวครับ แม้จะเป็นตัวที่เจอง่ายสุดแสนจะโหลปานใดก็ตาม เพราะเรามักได้ยินเสียงพวกมันมากกว่ามีโอกาสได้เห็นตัวหลายเท่า เป็นสัตว์ที่มักหากินในเวลาพลบค่ำและรุ่งสาง (crepuscular) เช่นเดียวกันกับนกยางลายเสือที่ได้แนะนำไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว แม้ว่านกฮูกหรือนกเค้ากู่จะเป็นนกเค้าอีกชนิดที่มีความชุกชุมและสามารถอยู่ในสภาพแวดล้อมที่หลากหลายเหมือนๆกัน แต่นกเค้ากู่นั้นเป็นสัตว์ที่หากินในเวลากลางคืน (nocturnal) อย่างแท้จริง โดยทั่วไปเราจึงมีโอกาสเห็นตัวนกเค้ากู่น้อยกว่านกเค้าโมง นกชนิดนี้เป็นนกประจำถิ่นที่สามารถพบได้ในถิ่นที่อยู่อาศัยแทบทุกรูปแบบขอเพียงมีไม้ยืนต้นให้อาศัยและพรรณไม้ไม่รกทึบจนเกินไป ในระดับความสูงไม่เกิน 1,980 เมตรจากน้ำทะเล พบทั่วทุกภาคของประเทศไทย ยกเว้นภาคใต้ตอนล่าง และบางส่วนของภาคกลางตอนล่าง
| นกเค้าจุด Spotted Owlet |
นกเค้าจุด Spotted Owlet ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน ขนด้านบนของตัวมีสีเทาอมน้ำตาลเล็กน้อย มีจุดและทางขาวเล็กๆขวางอยู่ทั่วไป ปีกมีจุดสีดำปนอยู่ด้วย หน้าอกและท้องมีลายขวางเป็นทางเล็กๆ สีน้ำตาล ทำรังตามโพรงไม้ หรือใต้หลังคาบ้าน ชอบกินหนู ถิ่นที่อยู่อาศัย พม่า, จีน, อิหร่าน, เขมร, โคชินไชน่า, เวียดนาม, ลาวและไทย สำหรับประเทศไทยมีทุกภาค ยกเว้นภาคใต้ | นกตบยุงหางยาว Large-tailed Nightjar |
นกตบยุงหางยาว Large-tailed Nightjar อยู่ในสกุลนกตบยุงเล็ก (Genus caprimulgus) เช่นเดียวกับนกตบยุงป่าโคก ซึ่งนกในสกุลนี้กำเนิดมาเป็นเวลาประมาณ 1 ล้านปีมาแล้ว มีการกระจายพันธุ์เกือบทั่วโลก ยกเว้นนิวซีแลนด์และฮาวาย มีตาโตสีน้ำตาลเข้ม ปากเล็กดูบอบบาง โคนปากกว้างและมีเส้นคล้ายหนวดเรียงเป็นแถบบริเวณโคนปาก จมูกมีลักษณะเป็นหลอดสั้นๆเห็นได้ชัดเจน มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 25-30 เซ็นติเมตร เฉพาะหางยาวไม่น้อยกว่า 14.6 เซนติเมตร ในตัวเต็มวัย นกตัวเมียและนกตัวผู้คล้ายคลึงกัน แต่ไม่เหมือนกันเสียทีเดียว คือ นกตัวผู้จะมีสีน้ำตาลแกมเทา ปลายหางมีแถบใหญ่สีขาวสองแถบด้านนอก รอบคอด้านบนมีลายน้ำตาลแดง ใต้คอสีขาว ท้อง ขนคลุมหางด้านล่างสีเนื้อมีลายแถบเล็กๆสีเข้ม นกตัวเมียจะมีลายแถบที่ขนปลายปีกเล็กกว่าและเป็นสีเนื้อแกมน้ำตาลเหลือง ในขณะที่ตัวผู้จะเป็นลายแถบสีขาวเด่นชัด สามารถพบนกตบยุงหางยาวได้ในทุกภาคของประเทศไทยบริเวณชายป่า ป่าโปร่ง ทุ่งหญ้า พื้นที่เกษตรกรรมจากที่ราบจนถึงความสูง 2000 เมตรจากระดับน้ำทะเล นกชนิดนี้มักหากินโดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ โดยเวลากลางวันจะนอนหลับตามพื้นดิน รากไม้ใหญ่ ขอนไม้ล้มโดยเกาะตามแนวยาวของกิ่ง นกที่เป็นคู่กันจะเกาะนอนใกล้ๆกัน พอเข้าช่วงเย็นๆ ค่ำๆก็จะเริ่มออกหากิน โดยจะบินขึ้นโฉบแมลงในอากาศ หรือบินลงโฉบแมลงบนพื้นดิน เมื่อกินอิ่มก็จะเกาะนอนพักบนกิ่งไม้ ไม่ลงนอนที่พื้นอีก เว้นแต่เป็นนกที่เลี้ยงลูกก็จะอยู่บนพื้นกับลูก
| นกตบยุงเล็ก Indian Nightjar |
นกตบยุงเล็ก Indian Nightjar พบและจำแนกชนิดได้ครั้งแรก ที่เมืองบอมเบย์ ประเทศอินเดีย ทั่วโลก มีนกตบยุงเล็ก 3 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบ 2 ชนิดย่อย รูปร่างลักษณะโดยทั่วไป นกตบยุงเล็ก เป็นนกขนาดกลาง ความยาวจากปลายปากจดหาง 24 ซม. มีลักษณะทั่วไป คล้ายกับนกตบยุงหางยาวตัวผู้ แต่ นกตบยุงเล็ก มีปีกสั้น และ กว้างกว่า , หางสั้น ประมาณ 11.9 ซม. มีแถบคาดตา สีน้ำตาลเข้มเกือบดำ, ลำตัวด้านบน สีออกเทาแกมน้ำตาล , มีขีด สีออกดำปนน้ำตาล, กระหม่อม มีขีดแคบๆ สีออกดำปนน้ำตาล, ขนบริเวณกระหม่อม มีขลิบขอบขนสีส้มอมแดง, ท้ายทอย มีเส้นเป็นวงรอบ สีขาวอมเหลือง หรือ สีฟางข้าว, ขนคลุมปีกชั้นแรก สีออกเทาปนน้ำตาล มีจุดประกระจายทั่วไป สีส้มอมแดง, ขนคลุมปีกส่วนที่เหลือ สีออกเทาปนน้ำตาล มีจุดประ สีขาวอมเหลือง, ขนบริเวณไหล่ มีบริเวณที่ขนเป็นสีขาวอมเหลือง ตรงกลางมีลายขีดแหลม สีออกดำปนน้ำตาล, โคนปากล่าง มีขีดที่คล้ายหนวด สีออกขาว, บริเวณกลางขนปลายปีก มีแถบสีขาวเล็กน้อย, ลำตัวด้านล่าง สีออกเทาปนน้ำตาล มีประจุดเล็กๆสีขาวอมเหลือง ซึ่ง จะกลายเป็นขีด สีขาวอมเหลือง ปนกับขีดสีน้ำตาล ที่บริเวณท้อง และ สีข้าง, ใต้คอ มีแต้มขนาดใหญ่ สีขาว อยู่ทั้งสองข้างของ คอตอนล่าง, นกทั้งสองเพศ สีสันคล้ายกัน ช่วงฤดูผสมพันธุ์ พบอยู่เป็นคู่ ช่วงอื่นพบอยู่โดดเดี่ยว หรือ เป็นฝูงเล็กๆ ซึ่งเป็นนกในครอบครัวเดียวกัน หรือ ลูกที่ยังไม่แยกตัวออกหากินตามลำพัง นกตบยุงเล็ก หากินช่วงเย็นใกล้ค่ำ และ กลางคืน ส่วนในเวลา กลางวัน มันจะหมอบนอนหลับ หรือ หลบซ่อนตามพื้นดิน ซึ่งมีหญ้าสูง หรือมีใบพืชค่อนข้างแน่นทึบ หากไม่สังเกตแทบมองไม่เห็นตัว เพราะมันมีสีสัน กลมกลืนกับใบไม้ หรือ สิ่งแวดล้อม . นกตบยุงเล็ก ร้อง ในเวลากลางคืน ดัง " ตุ๊ก - ตุ๊ก - ตุ๊ก - ตุ๊ก " พยางค์สุดท้าย อาจรัวเป็นเสียง " ตุ๊กกรู " นกตบยุงเล็ก หาอาหาร โดยเกาะตามพื้นดิน เมื่อมีแมลงบินผ่านมา ก็จะบินขึ้น แล้วใช้ปากโฉบจับ ปกติมันชอบหากินในบริเวณที่มีแสงไฟฟ้า ซึ่งเป็นที่ชุมนุมของแมลงจำนวนมาก อาหาร ได้แก่ ผีเสื้อกลางคืน ตั๊กแตน จิ้งหรีด ด้วงปีกแข็ง มวน และ แมลงที่หากินกลางคืน ในฤดูหนาว มันกินดอกไม้บางชนิด และ กินสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กบางชนิดด้วย เช่น หนูป่าตัวจิ๋ว ค้างคาว กระเล็น เป็นต้น เป็นนกประจำถิ่น พบได้บ่อย ปริมาณปานกลาง พบได้เกือบทุกภาค | นกเขาใหญ่(นกเขาหลวง) Spotted Dove |
นกเขาใหญ่ (นกเขาหลวง) Spotted Dove นกเขาใหญ่ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายคลึงกัน บนหัวมีสีเทาและหลังสีน้ำตาลอกแดงและคอสีน้ำตาลอมแดง ลักษณะที่เด่นชัดคือ มีแถบสีดำจุดขาวคาดบริเวณคอด้านหลัง แถบดังกล่าวนี้พบทั้งตัวผู้และตัวเมีย ยกเว้นตัวที่โตไม่เต็มที่จะยังไม่ปรากฏ ชอบอาศัยอยู่ตามทุ่งนา ป่าโปร่ง แหล่งที่มีการเพาะปลูกพืชไร่ มักอยู่เป็นคู่และขันคูในตอนเช้าเย็น มักลงมาหากินตามพื้นดิน เวลาขันจะมีเสียงไพเราะ คนจึงนิยมนำนกเขาชนิดนี้มาเลี้ยงกันอย่างแพร่หลาย ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน ทำรังอยู่บนต้นไม้ใหญ่ โดยใช้กิ่งไม้ขัดสานกันทำให้เป็นแอ่งเพื่อวางไข่ ปกติจะวางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ถิ่นอาศัย, อาหาร พบในทวีปเอเชียแถบประเทศอินเดีย จีน ไต้หวัน เวียดนาม กัมพูชา และในประเทศไทยพบในทั่วทุกภาค นกเขาใหญ่ชอบกินเมล็ดพืชเป็นอาหาร ได้แก่ ข้าวฟ่าง และธัญพืชต่างๆ | นกเขาไฟ red turtle-dove / red collared dove |
นกเขาไฟ red turtle-dove / red collared dove เป็นนกเขาขนาดเล็ก หางค่อนข้างสั้น มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 23 เซ็นติเมตร มีจุดเด่นอยู่ที่แถบสีดำที่พาดจากข้างคอด้านหนึ่งไปอีกด้านหนึ่งทางด้านหลัง ซึ่งเห็นได้ชัดเจนในนกทั้ง 2 เพศ นกตัวผู้มีหัวสีเทาอมฟ้า คอ ตัว และปีกสีออกแดงๆคล้ายสีอิฐมอญแต่ไม่เข้มเท่า ขนคลุมสะโพกด้านบนสีเทาอมฟ้า ปลายปีกและหางสีเข้ม ขณะที่นกตัวเมียจะมีสีน้ำตาลแทนที่สีแดงของตัวผู้ นกตัวไม่เต็มวัยคล้ายตัวเมียแต่ไม่มีสีดำที่คอ นกเขาไฟเป็นนกที่พบได้ทั่วไปตามบ้านเรือน สวนสาธารณะ พื้นที่เกษตรกรรม ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ ชายทุ่ง นาข้าว ในประเทศไทยพบได้ทั่วประเทศยกเว้นภาคใต้ มักพบเป็นคู่ หรือฝูงเล็กๆประมาณ4-5 ตัว มีเสียงร้องไม่ไพเราะ ทำให้มนุษย์ไม่นิยมนำมาเลี้ยง (เป็นบุญจริงๆ) ทำรังวางไข่ช่วงเดือนมีนาคม-สิงหาคม และกินอาหารจำพวกเมล็ดข้าว เมล็ดพืช แมลง | นกเขาเปล้าธรรมดา Thick-billed Green Pigeon |
นกเขาเปล้าธรรมดา Thick-billed Green Pigeon เป็นนกเขาขนาดกลาง มีขนาดลำตัว27 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะไม่เหมือนกัน ตัวผู้มีขนบนกระหม่อมสีเทา หน้าอกสีเขียว บนหลังและปีกมีสีแดงเลือดนก ขนคลุมใต้โคนหางสีน้ำตาลแดง ปากสีเขียวอมเหลือง โคนปากสีแดง ขาแดง และหนังรอบตาสีฟ้า ส่วนตัวเมียมีหัวสีเขียวขนคลุมใต้โคนหางสีครีม ปีกมีแถบสีเหลืองเล็ก ถิ่นอาศัย พบในทวีปเอเชีย แถบประเทศเนปาล จีน ฟิลิปปินส์ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และประเทศไทย พบอยู่ทั่วทุกภาค นกเขาเปล้าชอบกินเมล็ดพืชและผลไม้ต่าง ๆ เป็นอาหารนกเขาเปล้าชอบอาศัยอยู่ตามป่าดงดิบ ตั้งแต่ระดับต่ำจนถึงระดับสูงราว 4,000 ฟุต มักอยู่ใกล้หมู่บ้าน และแหล่งเกษตรกรรม นกชนิดนี้ทำรังอยู่ตามต้นไม้เล็ก ๆ หรือตามพุ่มไม้ ผสมพันธุ์ในช่วงเดือนพฤษภาคม ถึงมิถุนายน วางไข่ครั้งละ 2- 4 ฟอง
| นกกวัก White-breasted Waterhen |
นกกวัก White-breasted Waterhen เป็นนกที่มีลักษณะเด่นเฉพาะ เมื่อได้พบเพียงครั้งเดียวก็จำได้ และไม่มีทางสับสนกับนกชนิดอื่น นกชนิดนี้มีบริเวณตั้งแต่หลังหน้าผาก ไล่ไปจนถึงหลัง ปีก และหางเป็นสีดำออกเทา อมแดงนิดๆ หน้าผาก หน้า คอ อก ท้อง เป็นสีขาวสะอาด ขนคลุมโคนหางเป็นสีน้ำตาลแกมแดง ตาสีแดง โคนปากมีสีแดงสด ปากตรงสีเหลืองอมเขียว ขาและเท้าสีเหลืองอมเขียว นิ้วยาวมาก มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 28.5-36 เซนติเมตร ทั้ง 2 เพศคล้ายคลึงกัน พื้นที่ที่สามารถพบนกกวักได้คือตามบริเวณท้องนา หนองบึง ทุ่งหญ้า กกธูปฤษีข้างทางที่มีน้ำขัง แม่น้ำลำคลองที่มีกอหญ้า หรือที่ให้หลบซ่อนตัวได้ คนที่ขับรถไปตามเส้นทางที่มีลักษณะที่ว่าก็สามารถจะพบนกกวักเดินขึ้นมาจากข้างทางเพื่อข้ามถนนบ้าง เดินหากินบ้าง ซึ่งนกก็จะวิ่งหลบไปทันที นกชนิดนี้บินไม่ค่อยเก่ง จึงมักใช้วิธีวิ่งหนีไปซ่อนตัวในดงพืชรกๆ อาหารของนกชนิดนี้คือลูกกุ้ง ลูกปลา ลูกกบ เขียด หนอน แมลง ตัวอ่อนของแมลง ไส้เดือน และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังที่อาศัยตามพื้นที่ชื้นแฉะ นกจะเดินหากินไป กระดกหางไปเรื่อยๆ ซึ่งเป็นลักษณะที่เหมือนนกอัญชันอื่นๆที่อยู่ในวงศ์เดียวกัน หากไม่ตื่นกลัว นกจะเดินหากินไปเรื่อยๆ อย่างนกกวักตัวนี้ที่เดินหากินอยู่ในพุทธมณฑล เดินไป เดินมาหากินอย่างไม่หยุดหย่อน | เหยี่ยวนกเขาชิครา shikra |
เหยี่ยวนกเขาชิครา shikra เป็นเหยี่ยวที่มีขนาดเล็ก ถึงกลาง คือมีขนาดตัวประมาณ 30 ซม.ในตัวผู้ และประมาณ 36 ซม.ในตัวเมีย เหยี่ยวตัวเมียมีสีสันคล้ายคลึงกับเหยี่ยวตัวผู้ แต่ถ้าหากเหยี่ยวตัวผู้และเหยี่ยวตัวเมียมาเกาะอยู่ใกล้ๆกัน เราจะเห็นว่า เหยี่ยวตัวเมียมีส่วนบนออกสีน้ำตาลและส่วนล่างของลำตัว มีลายบั้ง ออกสีน้ำตาลจางๆชัดกว่าเพราะลายบั้งหนากว่า ในช่วงเดือนมีนาคม ถึง พฤษภาคม เหยี่ยวนกเขาชิคราที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป จะจับคู่ทำรัง วางไข่ นกตัวเมียเป็นฝ่ายสร้างรังโดยการหักกิ่งไม้เล็กๆมาขัดสานเป็นรังหยาบๆ บอบบางโดยทำเป็นแอ่งตื้นๆ หาใบไม้สดมารองรัง รังจะอยู่สูงระหว่าง 6 - 12 เมตร จากพื้นดิน วางไข่ประมาณ2-7ฟอง ปรกติจะเป็น 3 ฟอง นกตัวเมียกกไข่เพียงผู้เดียวเป็นเวลาประมาณ 28-35วัน โดยนกตัวผู้จะเป็นผู้หาอาหารมาให้ และเมื่อลูกฟักเป็นตัวแล้ว ตัวผู้ก็หาอาหารมาให้ทั้งแม่และลูกแต่จะไม่เข้าป้อนเองเลย อาหารของเหยี่ยวนกเขาชิครา คือ นกขนาดเล็ก สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กเช่น หนู และ กระรอก แมลงตัวโตๆ กบ และ สัตว์เลื้อยคลาน เช่น กิ้งก่า เหยื่อส่วนใหญ่จะอยู่บนพื้นดิน การล่าเหยื่อ เค้าจะมาแบบเงียบๆไม่ให้เหยื่อรู้ตัว มารู้ตัวอีกทีก็มองเห็นร่างอันไร้วิญญาณของตัวเองเสียแล้ว เพราะ เหยื่อมักจะตายด้วยกรงเล็บของเค้าในทันทีที่เค้าโฉบลงจับ จากนั้นก็จะนำซากไปฉีกกินบนกิ่งไม้โดยใช้เท้าเหยียบเหยื่อไว้ สำหรับประเทศไทย เหยี่ยวนกเขาชิคราเป็นนกประจำถิ่นที่พบจากบริเวณคอคอดกระขึ้นมา บางส่วนเป็นนกที่อพยพผ่านเข้ามาในฤดูหนาวเพื่อลงไปหากินทางแถบมลายูและสุมาตรา เราสามารถพบเค้าได้ในป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบแล้ง และ ป่าดิบเขาที่ค่อนข้างโปร่ง สวนป่า สวนผลไม้ ไร่ ที่โล่งที่มีต้นไม้ขึ้นกระจัดกระจาย สวนสาธารณะใกล้เมือง จากที่ราบถึงความสูงระดับ 1,500 เมตร
| นกกาน้ำเล็กLittle Cormorant |
นกกาน้ำเล็กLittle Cormorant นกกาน้ำเล็กมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราวๆ51-54.5 เซนติเมตร ปากค่อนข้างหนาสีน้ำตาลเข้มเกือบดำยาว3-4เซ็นติเมตร ขณะบินจะมองเห็นเป็นนกขนาดเล็กคอสั้นปีกเล็กหางยาว ในชุดขนนอกฤดูผสมพันธุ์นกจะมีขนคลุมลำตัวสีดำ ขนคลุมปีกสีเทาเข้มจนถึงดำ ถุงใต้คางสีขาว แต่ในชุดขนฤดูผสมพันธุ์ ถุงใต้คางจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลเข้มมีขนขาวขึ้นแซมบริเวณลำตัวด้านบน หัว คอและลำตัวด้านล่างจะมีขนสีดำเหลือบเป็นมัน บนกระหม่อมบางส่วนมีขนสีขาวหรือน้ำเงินขึ้นแซมเห็นเป็นลายขีดแทรกอยู่ทั่ว นกทั้งสองเพศคล้ายคลึงกัน นกวัยอ่อนคล้ายนกตัวเต็มวัยนอกฤดูผสมพันธุ์ อาหารของนกชนิดนี้คือปลาเสียเป็นส่วนใหญ่ โดยมักเป็นปลาเล็กที่ว่ายน้ำช้าได้แก่ ปลาตะเพียนขาว ปลาหมอไทย ปลากระดี่หม้อ เป็นต้น อาหารอื่นๆได้แก่กบ เขียด กุ้ง แมลง และกินสาหร่ายบ้างแต่เป็นปริมาณน้อยมากๆ เมื่อจับปลาได้แล้วนกจะชูปลาขึ้นมาเหนือน้ำ จัดให้หัวปลาหันเข้าหาคอ กลืนกินลงไปและดำลงหาอาหารต่อ เมื่ออิ่มก็จะขึ้นมาเกาะตอไม้ หรือกิ่งไม้ชายน้ำ กางปีกออกทั้งสองข้างเพื่อผึ่งให้แห้ง นกกาน้ำเล็กมักหากินตามแหล่งน้ำจืดในแผ่นดินแต่ก็สามารถหากินตามปากแม่น้ำ ป่าโกงกางในเขตน้ำกร่อยได้ด้วย พบจากที่ราบจนถึงความสูง 1450เมตรจากระดับน้ำทะเล
| นกยางเปีย Little Egret |
นกยางเปีย Little Egret เป็นนกขนาดกลาง ความยาวลำตัวประมาณ 60 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน สีขาวตลอดตัวตาดำ ปากดำ ขาดำ นิ้วเท้าเหลือง แต่เล็บดำ ตัวเล็กกว่านกยางโทนมาก ในฤดูผสมพันธุ์จะมีขนยาวห้อยจากท้ายทอยคล้ายหางเปีย 2 เส้น ยาวประมาณ 10 เซนติเมตร จึงได้ชื่อว่า นกยางเปีย ถิ่นอาศัย พบในอินเดีย หมู่เกาะอันดามัน เกาะนิโคบาร์ จีน ไหหลำ ไต้หวัน ซุนดาส์ กัมพูชา ลาว เวียดนาม ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย ประเทศไทยพบว่าเป็นนกประจำถิ่นภาคกลางและจะอพยพไปทั่วทุกภาค นกยางเปียกินปลา กบ เขียด กุ้ง หอย แมลงต่างๆ สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆ
| นกกระสานวล grey heron |
นกกระสานวล grey heron มีสีเทาอ่อนเกือบทั้งตัว หัวและคอสีขาว บนหัวมีเปียยาวหนึ่งคู่สีดำ ที่ข้างลำคอด้านหน้าทั้งสองข้าง มีลายสีดำ ลากเป็นทาง ลงมาถึงหน้าอก ชอบอาศัย และหากิน ตามหนองบึง ทะเลสาบ หรือทุ่งนา โดยพบได้ทั้งที่ที่เป็นน้ำจืด และน้ำเค็ม น้ำใส และโคลนเลน ขอให้มีอาหารเพียงพอ เป็นนกที่ใกล้สูญพันธุ์ (endangered) ไปจากประเทศไทย เนื่องจากในปัจจุบันไม่พบการสร้างรังวางไข่ ในประเทศไทยอีกแล้ว และนกที่ย้ายถิ่นเข้ามา ก็ถูกล่าไปเป็นจำนวนมากทุกปี อย่างไรก็ตาม ขณะนี้นกกระสานวลจัดเป็นนกที่หาดูได้ไม่ยากนัก เป็นนกอพยพที่พอหาดูได้ทุกภาคของประเทศที่มีแหล่งน้ำ | นกยางกรอกพันธุ์ชวา javan pond heron |
นกยางกรอกพันธุ์ชวา javan pond heron มีหัว และ คอ สีน้ำตาลออกเหลือง หลังสีน้ำตาลเข้ม อก สีส้มอมแดง ขนบริเวณท้ายทอย และ ไหล่สีเทาปนดำ แต่เวลาบิน ยังเห็นเป็นนกที่มีสีขาว เป็นส่วนใหญ่ บริเวณท้ายทอยมีขนเปียสีน้ำตาลออกเหลือง 2 เส้น , มีสีฟ้าอมเขียว บริเวณตั้งแต่โคนปาก ถึง รอบดวงตา เป็นนกที่หาพบได้ง่ายมากๆ ตามแถบชานเมืองของกรุงเทพ และภาคกลางตอนล่าง เป็นนกประจำถิ่นของประเทศไทย พบเค้าได้มากตามนาข้าว บริเวณที่มีน้ำท่วมขัง โดยจะพบทั้งบริเวณที่เป็นน้ำจืดและน้ำกร่อย เพื่อคอยจับกินปลาและสัตว์น้ำเล็กๆ โดยอาจพบเค้ายืนนิ่งๆ นาน จนคิดไปเองว่าเป็นรูปปั้นที่ใครเอามาวางประดับไว้
| นกยางเขียว little heron |
นกยางเขียว little heron มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 43-45 เซ็นติเมตร มีขนคลุมบริเวณกระหม่อมสีดำ ขนสีดำนี้จะยาวเลยออกมาบริเวณท้ายทอย ลำตัวด้านบนสีเข้มกว่าด้านล่าง มีลายสีขาวลางลงมาบริเวณกึ่งกลางตัวจากคอลงมาถึงอก ปีกมีลาย ลำตัวด้านบนโดยรวมๆดูเป็นสีเขียวอมเทา ตัวผู้และตัวเมียมีลักษณะคล้ายกัน ตัวเด็กจะมีลำตัวด้านบน สีออกน้ำตาล ลำตัวด้านล่าง มีลายขีดสีเข้ม กระจายทั่วไป นกยางเขียวมักอาศัยอยู่ตามบริเวณป่าชายเลน ชายฝั่งทะเล ป่าโกงกาง หาดโคลน ตามเกาะที่อยู่นอกชายฝั่ง ตามชายน้ำของลำคลอง บางครั้งก็พบในแหล่งน้ำจืดด้วย อย่างไรก็ตาม ตามป่าชายเลน หาดโคลน ชายฝั่งทะเล จะเป็นที่ที่พบนกยางเขียวได้ง่ายกว่าแหล่งน้ำจืดในแผ่นดิน นกยางเขียวทำรังวางไข่ได้ทั้งปี แต่จะทำมากที่สุดในช่วงฤดูร้อนต่อฤดูฝน โดยในช่วงนี้เค้าจะอยู่กันเป็นคู่ ช่วยกันเลือกวัสดุและสถานที่ทำรัง รังของเค้าทำอย่างง่ายๆเพียงใช้กิ่งไม้มาวางซ้อนกันตามง่ามไม้ที่อยู่ริมน้ำ ทำตรงกลางเป็นแอ่งเพื่อวางไข่ นกยางเขียววางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง ใช้เวลาฟักประมาณ 15-17 วัน ช่วงแรกพ่อแม่จะสำรอกอาหารออกมาป้อนลูก พอลูกนกโตขึ้นจึงไปหาอาหารมาทิ้งไว้ในรังให้ลูกจิกกินเอง พออายุ 5-6 สัปดาห์ ลูกนกจะโตพอที่จะทิ้งรังออกไปหากินเอง | นกแขวก Black-crowned Night-Heron |
นกแขวก Black-crowned Night-Heron อยู่ในวงศ์นกยาง Family Ardeidae ซึ่งในโลกมี 62 ชนิด ในประเทศไทยพบ 19 ชนิด เป็นนกที่มีลักษณะเฉพาะ ผู้ดูจะไม่สับสนกับนกชนิดอื่นเด็ดขาดถ้าเป็นนกตัวเต็มวัย กล่าวคือ มีหัวสีดำ มีเปียสีขาวยื่นจากท้ายทอยลงมาทาบกับหลังซึ่งมีสีดำทำให้ดูเด่น ตาสีแดง หน้าสีขาว ปากสีดำ ลำตัวด้านล่างสีขาว ปีกกลมๆและหางสั้นๆสีเทา ขาสีเหลือง (ซึ่งจะออกแดงในช่วงฤดูผสมพันธุ์) นกสองเพศคล้ายคลึงกันแต่นกตัวเมียจะตัวเล็กกว่าเล็กน้อย นกชนิดนี้เป็นนกยางที่มีขนาดกลางๆ คือมีความยาวจากปลายปากจรดปลายหาง ราว 50-61 เซนติเมตร และมีความกว้างจากปีกถึงปีก ถึง 110 เซนติเมตร เป็นนกยางที่คอสั้นและมักอยู่ในท่าหดคออยู่เสมอ นกแขวกวัยเด็กอาจดูสับสนได้กับลูกนกยางอื่นที่มีลายๆเหมือนกันโดยเฉพาะเมื่อมองผ่านๆ แต่เมื่อสังเกตดีๆแล้ว ลูกนกแขวกจะมีลายจุดๆขาวๆบนปีกเป็นจุดสังเกต ทำให้แตกต่างจากลูกนกยางอื่นๆพอสมควร นกแขวกจะผลัดขนเป็นชุดขนผู้ใหญ่โดยสมบูรณ์เมื่อเข้าปีที่ 3 โดยนกจะค่อยๆผลัดขนให้คล้ายชุดขนผู้ใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ นกในปีที่ 2 จะคล้ายตัวผู้ใหญ่มาก แต่สีสันจะยังอ่อนกว่าไม่เหมือนเสียทีเดียว นกแขวกกินปลาเป็นอาหารหลัก และเสริมด้วยสัตว์น้ำเล็กๆอื่นๆ ทาก หนอน แมลงต่างๆ โดยจะยืนนิ่งๆอยู่บนตอไม้เล็งหาปลาในน้ำ เมื่อจับได้ก็นำไปกินในที่ที่ปลอดภัยและสะดวก เนื่องจากเป็นนกที่ยังชีพด้วยการกินปลา จึงมักพบนกชนิดนี้ตาม แหล่งน้ำต่างๆ บริเวณที่ที่มีหญ้าขึ้นริมน้ำข้างทาง บึงน้ำ สวนสาธารณะตามบริเวณชายน้ำ เป็นต้น นกที่พบทางภาคกลางเป็นนกประจำถิ่น ส่วนนกที่พบในบริเวณอื่นของประเทศมักเป็นนกอพยพในฤดูหนาว | นกกระทุง Spotted-billed Pelecan |
นกกระทุง Spotted-billed Pelecan เป็นนกขนาดใหญ่ มีความยาวจากปากถึงปลายหางประมาณ 52 - 60 นิ้ว เป็นนกน้ำ ขาสั้นใหญ่ ปากยาวแบนข้างใต้มีถุงสีออกม่วงขนาดใหญ่ บริเวณขอบปากบนมีจุดสีน้ำเงินเข้มอยู่เป็นระยะตามความยาวของจงอยปาก ตีนมีพังผืดสีเหลืองขึงเต็มระหว่างนิ้วทุกนิ้วคล้ายเป็ด ม่านตาสีแดง แข้งและเท้าสีเนื้อ สามารถว่ายน้ำได้ดี บินได้สูง ในฤดูผสมพันธุ์ ขนจะเปลี่ยนเป็นสีเทาเงินในช่วงบนของลำตัว ส่วนช่วงล่างจะเป็นสีขาว แต่ถ้าไม่ใช่ฤดูผสมพันธุ์ ปีก หางและส่วนใต้ลำตัว จะมีสีน้ำตาลเช่นเดียวกับนกกระทุงที่ยังไม่โตเต็มที่ ทั้งตัวผู้และตัวเมียรูปร่างและสีสันเหมือนกัน นกกระทุงชอบอยู่เป็นฝูง กินปลา กุ้ง กบ สัตว์เลื้อยคลานเล็กๆเป็นอาหารและหาอาหารด้วยกัน ถ้าตัวใดตัวหนึ่งทำอะไรตัวอื่นจะทำตาม เวลาที่มันอยู่เฉยๆจะหันหน้าไปทางเดียวกันหมด เวลาบินจะหดคอเข้ามา บินกันเป็นแถวเรียงหนึ่ง บางครั้งบินเป็นรูปตัว "วี" (V) ส่วนใหญ่จะบินเป็นรูปขั้นบันไดกว้างๆ รังสร้างด้วยกิ่งไม้ใหญ่ๆวางสานกันบนต้นไม้สูงๆ ขนาดของรังมีเส้นผ่าศูนย์กลาง 2 ฟุต วางไข่ครั้งละประมาณ 3 ฟอง ไข่มีสีขาว ทั้งตัวผู้และตัวเมียช่วยกันกกไข่ประมาณ 4 - 5 อาทิตย์ จึงฟักเป็นตัว คนยุโรปในยุคกลางเชื่อกันว่านกกระทุงเลี้ยงลูกอ่อนด้วยเลือดของมันเอง โดยใช้ปากเจาะเลือดจากอกของมัน ถิ่นที่อยู่อาศัย อินเดีย, จีน, ไหหลำ, ไต้หวัน, ซุนดาห์, ออสเตรเลีย, โซโลมอน, อินโดจีน, ฟิลิปปินส์, แหลมมลายูและไทย ประเทศไทยมีอยู่ทั่วไปทุกภาค ปัจจุบันเป็นนกที่ค่อนข้างพบเห็นยากมาก เคยพบปนอยู่กับฝูงนกปากห่างที่วัดไผ่ล้อม จ.ปทุมธานี
| นกปากห่าง Open-billed Stork |
นกปากห่าง Open-billed Stork ตัวผู้และตัวเมียคล้ายกัน มีขายาว คอยาว ปากใหญ่ส่วนกลางของปากห่างออกเพื่อคาบหอยโข่งซึ่งกลมลื่นได้ ชอบกินแต่เนื้อหอยโข่งอย่างเดียว ขนตามตัวมีสีขาวมอๆ หางมีสีดำแกมน้ำเงิน ขนปลายปีกมีสีเหมือนหางและเห็นเป็นแถบสีดำ นกปากห่างตัวยาว 32 นิ้ว ชอบอยู่เป็นฝูงและทำรังใกล้ๆกันบนต้นไม้ ทำรังด้วยเรียวไม้แบบนกยางหรือรังกา ออกไข่ครั้งละ 2 - 4 ฟอง ตัวผู้และตัวเมียจะผลัดกันกกไข่ ในการผสมพันธุ์ เวลาตัวผู้ขึ้นทับตัวเมียนั้น นกตัวผู้จะใช้เท้าจับขอบปีกหน้าของตัวเมียไว้แน่น ทั้งสองตัวจะกระพือปีกช่วยการทรงตัว ตัวผู้จะแกว่งปากของมันให้กระทบกับปากของตัวเมียอยู่ตลอดเวลาที่ทำการทับ ลูกนกเมื่อออกจากไข่ใหม่ๆจะไม่มีขน หลังจากนั้นไม่กี่วันก็มีขนปุยขาวๆคลุม อีกราวเกือบ 2 เดือนก็มีปีกหางแข็งแรงแล้วก็เริ่มหัดบิน ถิ่นที่อยู่อาศัย พม่า, ลาว, อินเดีย, เวียดนาม, เขมร, โคชินไชนาและไทย เป็นนกที่อพยพย้ายถิ่นหากินตามฤดูกาลระหว่างประเทศไทยกับประเทศอินเดีย ปากีสถานและเขมร จะเริ่มอพยพเข้ามาในประเทศไทยราวเดือนพฤศจิกายน และจะบินอพยพกลับในราวเดือนมิถุนายน สำหรับในประเทศไทยมีอยู่ประปรายทั่วไปทุกภาค | นกแต้วแล้วอกเขียว Hooded Pitta |
นกแต้วแล้วอกเขียว Hooded Pitta ที่พบในประเทศไทยเป็นชนิดย่อย Cucullata ซึ่งมีหน้าผาก กระหม่อม ท้ายทอยเป็นสีน้ำตาลแดง หน้าจนถึงคอเป็นสีดำ ปากหนาแข็งแรงสีดำ ลำตัวด้านบนและด้านล่างเป็นสีเขียวกลมกลืนกับสภาพป่าที่อาศัยอยู่ ขนคลุมท้องด้านล่างจนถึงโคนหางเป็นสีแดง ขนคลุมโคนหางด้านบนและตะโพกสีฟ้าสดใสเป็นมัน ขนหางสั้นมากจนดูกุดๆ เหมือนไม่มีหาง ขาและนิ้วเท้ายาวแข็งแรง ความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 20 เซ็นติเมตร ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน ในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนมีนาคม นกแต้วแล้วอกเขียวจะหากินอยู่ทางใต้ของไทย มลายู สุมาตรา ชวา พอถึงเดือนเมษายน นกแต้วแล้วที่หากินอยู่ในมลายู สุมาตรา ชวาจะอพยพย้ายถิ่นไปพร้อมกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้เข้าไปทำรังวางไข่ในไทย พม่า อินโดจีน ยูนนาน อินเดียด้านตะวันออกเฉียงเหนือ บังคลาเทศ และแถบเชิงเขาหิมาลัยของอินเดีย เนปาล สิกขิม และภูฐาน ตั้งแต่ที่ราบต่ำถึง 1,800 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ในไทยพบสูงสุดเพียง 750 เมตรจากระดับน้ำทะเลเท่านั้น (Bird-Home) ในช่วงต้นฤดูอพยพอย่างเดือนเมษายนถึงเดือนพฤษภาคม เราสามารถพบนกแต้วแล้วอกเขียวซึ่งกำลังเดินทางได้ที่บริเวณอ่าวไทย ทั้งป่าชายเลน ป่าชั้นสองในภาคกลางตอนล่าง และในปีนี้มีรายงานการพบที่พุทธมณฑล จ.นครปฐม ในช่วงต้นเดือนพฤษภาคม แต้วแล้วอกเขียววางไข่ครั้งละ 3-5 ฟอง เปลือกไข่สีขาว มีจุดสีม่วงหรือสีน้ำตาล อาจมีลายเส้นสีดำอมม่วง ขนาดของไข่ 23.0-28.0x19.6-22.5 มม. วางไข่วันละ 1 ฟอง เมื่อวางหมดทั้งพ่อและแม่นกจะผลัดกันกกไข่ทันที ใช้เวลา 15-16 วันลูกนกก็จะออกจากไข่พ่อแม่นกจะนำอาหารจำพวกไส้เดือนมาเลี้ยงลูกนกจนอายุราว 12 วัน ลูกนกก็จะโตพอจะออกจากรังได้ และหากินร่วมกับพ่อแม่ระยะหนึ่งจึงแยกตัวออกหากินเอง | นกแต้วแล้วธรรมดาBlue-winged Pitta |
นกแต้วแล้วธรรมดาBlue-winged Pitta มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 20 เซ็นติเมตร มีสีสันสวยงามน่ามอง คือ มีแถบสีน้ำตาลเข้มพาดเป็นแนวยาวกลางหัว ต่อด้วยสีน้ำตาลอ่อน และ มีสีดำพาดนัยน์ตาคาดไปถึงท้ายทอย คอสีขาวตัดกับลำตัวด้านล่างสีน้ำตาลอมเหลือง ท้องด้านล่างไปถึงก้นมีสีแดงสดใส ปากหนาสีดำแข็งแรงสำหรับจิกกินอาหารตามพื้น ปีกด้านล่างสีดำมีสีขาวบริเวณเกือบปลายปีกเป็นพื้นที่กว้างเห็นได้ชัดเจนเวลากางปีก ขนคลุมหลังมีสีเขียว หัวปีกด้านบนและขนคลุมโคนหางด้านบนสีฟ้าสดใส ตะโพกและหางสั้นๆจนดูเหมือนไม่มีหางนั้นเป็นสีน้ำเงินเข้ม ขาและเท้าสีเนื้อ หรือน้ำตาลจางๆ ตัวผู้และตัวเมียคล้ายคลึงกัน รังของนกแต้วแล้วธรรมดามักถูกพบตามโคนต้นไผ่ รากไม้ พุ่มไม้รกๆ มีรูปร่างรีๆ คล้ายลูกรักบี้ ทำจากกิ่งไม้แห้งๆ มาสุมรวมกัน มีทางออกอยู่ด้านข้าง รังของนกแต้วแล้วมักไม่คงทนนักเนื่องจากวัสดุที่นำมาใช้เป็นวัสดุที่ผุพังง่าย หากพ่อแม่นกเป็นมือใหม่ก็เป็นไปได้ที่รังจะพังก่อนเวลาอันควร นกชนิดนี้จึงมักรีบทำรังให้เสร็จก่อนฤดูฝนที่อาจมีน้ำมาชะรังให้เสียหายไปอย่างรวดเร็ว วางไข่ครั้งละประมาณ 4 ฟอง ไข่ค่อนข้างกลม เปลือกไข่เป็นมันวาวสีขาวหรือสีครีม มีจุดสีน้ำตาลปนแดงหรือม่วงบ้าง พ่อแม่นกช่วยกันกกไข่และหาอาหารมาเลี้ยงลูกอ่อน นกแต้วแล้วธรรมดาเป็นนกที่หากินตามพื้นดิน อาหารได้แก่หนอน แมลง แมงมุม ไส้เดือน โดยเฉพาะไส้เดือน เป็นอาหารคู่ปากที่เรามักเห็นนกชนิดนี้คุ้ยมากองรวมกันและคาบไปทีละหลายๆ ตัวไปป้อนลูกที่รังเสมอ | นกอีเสือลายเสือ Tiger Shrike / Thick-billed Shrike |
นกอีเสือลายเสือ Tiger Shrike / Thick-billed Shrike มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 17-19 เซ็นติเมตร น้ำหนักประมาณ 27-37 กรัม นกตัวผู้มีหัวค่อนข้างโตสีเทาตั้งแต่กระหม่อมถึงท้ายทอย หน้าผากและแถบคาดตาสีดำ ขนคลุมลำตัวด้านล่างขาว ขนคลุมหางด้านบนสีน้ำตาลอ่อน ปีกและหางสีน้ำตาลแดงไม่มีลายแถบสีขาวที่ปีก มีลายเกล็ดสีดำบนขนคลุมปีกด้านบน นกตัวเมียสีคล้ำกว่าตัวผู้ จุดเด่นคือมีลายขีดหรือเกล็ดสีดำหรือน้ำตาลเข้มที่ท้องโดยที่นกตัวผู้ไม่มี นกชนิดนี้ทำรังวางไข่ในจีน เกาหลี ญี่ปุ่นและตะวันออกไกลของประเทศรัสเซีย ฤดูหนาวจะย้ายลงมาอยู่ที่ประเทศมาเลเซียและอินโดนีเซียเป็นนกอพยพผ่านของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สำหรับประเทศไทยจะพบในช่วงต้นฤดูอพยพ ช่วงปลายเดือนกันยายน-เดือนตุลาคม โดยพบตามสวนสาธารณะในเมือง ป่าโกงกาง ป่าชายเลน ตามที่โล่งในที่ราบภาคกลางและทางใต้ลงไปเมื่อนกอพยพลงไปเรื่อยๆ และจะพบอีกครั้งช่วงปลายฤดูคือช่วงที่นกอพยพกลับโดยจะพบได้ทั้งภาคใต้ กลาง ตะวันตกและภาคเหนือ อาหารหลักของนกชนิดนี้คือแมลงต่างๆ อันได้แก่ ตั๊กแตน จิ้งหรีด แมลงเต่าทอง แมลงปีกแข็ง ผีเสื้อและผีเสื้อกลางคืน แต่สัตว์เล็กอย่างนกเล็กๆหรือกิ้งก่าก็ไม่ได้รังเกียจ นกชนิดนี้จะเกาะคอนนิ่งๆ ตามชายป่าเพื่อล่าเหยื่อแต่ก็จะออกหาเหยื่อตามกิ่งไม้ใบไม้ด้วย ช่วงเดือนพฤษภาคมถึงเดือนกรกฎาคมเป็นช่วงจับคู่ผสมพันธุ์ทำรังวางไข่ นกจะเริ่มจับคู่ตั้งแต่ช่วงเดินทางกลับขึ้นเหนือ หรือช่วงที่เพิ่งเดินทางกลับถึงใหม่ๆ นกทั้งสองเพศช่วยกันทำรังบนกิ่งไม้บนต้นไม้ผลัดใบสูง 1.5 ถึง 5 เมตรจากพื้นดิน วางไข่ครั้งละ 3-6 ฟอง ปรกติ 5 ฟอง ตัวเมียกกไข่เป็นเวลา 14-16 วัน และเลี้ยงลูกในรังประมาณ 2 สัปดาห์ | นกขุนแผน red-billed blue magpie |
นกขุนแผน red-billed blue magpie ขนาดตัวของนกขุนแผนจากปลายปากจรดปลายหางคือ 65-68 ซม. ซึ่งเป็นขนาดที่อาจดูน่าตกใจ จริงๆแล้วนกชนิดนี้เป็นนกที่หางยาวมาก เฉพาะขนหางก็ยาวราว 37-42 ซม. แล้ว นกตัวผู้และนกตัวเมีย มีสีสันเหมือนกัน มีปากหนาแข็งแรงสีแดงสด หัว คอ รวมทั้งหน้าอกตอนบน เป็นสีดำ มีแถบสีขาวจากกึ่งกลาง กระหม่อมยาวลงไปถึงหลังคอและบริเวณกึ่งกลางกระหม่อมก็มีจุดสีขาวๆ ด้วย หลัง ไหล่ และตะโพกเป้นสีฟ้าอมม่วง ขนคลุมบนโคนหางก็เป็นสีฟ้าอมม่วง แต่สว่างกว่าและปลายเส้นขนแต่ละเส้น เป็นแถบสีดำ กว้าง จึงเห็นเป็นลายเกล็ดสีดำที่ขนคลุมบนโคนหาง ปีก ก็เป็นสีฟ้าอมม่วงแต่มีสีเข้มกว่าบนหลัง ปลายขนปลายปีก ขนกลางปีกและขนโคนปีกเป็นแถบสีขาวกว้างๆ โดยเฉพาะที่ปลายขนโคนปีก แถบสีขาวนี้จะกว้างมากอย่างเห็นได้ชัด ดูคล้ายกับรูปพระจันทร์เสี้ยวสีขาว นกขุนแผนเป็นนกที่กินอาหารได้หลากหลาย ทั้งผลไม้สุก น้ำหวาน และอาหารจำพวกเนื้อสัตว์อย่างกิ้งก่า ตัวเงินตัวทอง นกตัวเล็กๆ แมลงตัวโตๆ หรืออื่นๆตามแต่จะหาได้ (เช่นอาหารจากกองขยะ ถ้าแถวที่เค้าอยู่มี) โดยปรกติแล้ว นกขุนแผนเป็นนกที่อยู่ในป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรังล้วนๆ และ ป่าเต็งรังผสมกับป่าสนเขา และ ในบางครั้ง ก็พบในป่าชั้นสอง ป่าละเมาะ และ ป่าดิบแล้ง หรือ ป่าดิบเขา ที่เป็นป่าโปร่ง แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา เราพบเค้าในพุทธมณฑล และได้พบเค้าทานอาหารทั้ง2แบบ คือแวะจิกทานมะละกอสุกที่สุกคาต้น และอาหารเนื้อสัตว์ | นกกาแวน Racket-tailed Treepie |
นกกาแวน Racket-tailed Treepie มีขนคลุมลำตัวทั้งหมดรวมถึงปีกและหางสีดำเหลือบเขียว และมีขนบริเวณหน้ากระจุกตัวแน่นสีดำเข้มคล้ายกำมะหยี่ ตาสีฟ้าเข้มสดใส หางยาวปลายกว้าง ปากหนาสีเทาเข้มถึงดำความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 30 เซนติเมตร ตัวผู้และตัวเมียเหมือนกัน นกชนิดนี้มีการกระจายพันธุ์ในทวีปเอเชียที่ประเทศพม่า ไทย อินโดจีน สุมาตรา ชวาและบาหลี พบในป่าละเมาะ ป่าชั้นรอง พื้นที่เกษตรกรรม ป่าโปร่ง ป่าไผ่ ป่าชายเลน ในประเทศไทยพบได้ตั้งแต่พื้นราบจนถึงที่สูง 915 เมตรจากระดับน้ำทะเล ไม่พบเฉพาะทางภาคใต้และภาคตะวันออกเฉียงเหนือในบางพื้นที่ นกกาแวนหาอาหารบนต้นไม้ ไม่ลงมาหากินบนพื้นดิน แม้จะพบลงมาอาบน้ำในบางครั้งบางคราว นกจะย้ายจากต้นไม้ต้นนั้นไปต้นนี้อย่างคล่องแคล่วโดยใช้หางยาวที่มีเป็นตัวช่วยถ่วงสมดุล อาหารของนกชนิดนี้ได้แก่ลูกไม้และแมลงต่างๆ รังของนกกาแวนเป็นรูปถ้วย ทำบนต้นไผ่ หรือต้นไม้เตี้ยๆ ที่มีหนาม วางไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง นกชนิดนี้เป็นนกที่หาพบได้ไม่ยากนัก คืออาจพบตามสถานที่ที่มีต้นไม้หนาแน่นอย่างพุทธมณฑล แต่เนื่องจากมีสีดำทั้งตัวจึงอาจทำให้เข้าใจผิดว่าเป็นนกชนิดอื่นที่มีสีสันคล้ายคลึงกันอย่างนกแซงแซวหางปลาได้หากนกอยู่ในที่รก
| นกขมิ้นท้ายทอยดำ Black-naped Oriole |
นกขมิ้นท้ายทอยดำ Black-naped Oriole มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 27 เซ็นติเมตร มีลำตัวหนา ปีกค่อนข้างยาว ปลายปีกแหลม หางยาวปานกลางปลายหางมน ปากแหลมโค้งปลายเล็กน้อยสีชมพู นกตัวผู้และนกตัวเมียมีสีสันต่างกัน นกตัวผู้เต็มวัยมีสีเหลืองสดใสไปทั้งตัว เว้นขนปลายปีกและขนหางมีสีดำ มีแถบคาดสีดำคาดผ่านตาจากโคนปากไปจนถึงท้ายทอย นกตัวผู้มีสีเหลืองอ่อนกว่าตัวผู้และขนคลุมลำตัวด้านบนมีสีออกเขียว นกที่ยังไม่เต็มวัยสีอ่อนคล้ายตัวเมีย ขนคลุมลำตัวด้านล่างค่อนข้างขาวมีขีดสีคล้ำประอยู่ทั่วไป ไม่มีแถบคาดตาสีดำ แต่เมื่อค่อยๆโตขึ้นก็จะค่อยๆมีแถบสีดำปรากฏชัดขึ้น นกชนิดนี้ชอบอาศัยในป่าดิบและป่าผสมผลัดใบที่ไม่ค่อยรกทึบนัก ป่าชายเลน สวนผลไม้ สวนสาธารณะ ต้นไม้ในหมู่บ้าน โดยมักซ่อนตัวในพุ่มรกๆมากกว่ามาเกาะกิ่งโล่งๆ อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงที่พบตามยอดไม้ เช่นด้วง จักจั่น ไข่และตัวอ่อนของแมลง ตัวบุ้ง ผลไม้สุกและน้ำหวานจากดอกไม้ เมื่อถึงแหล่งทำรังวางไข่แล้วนกจะจับคู่เกี้ยวพาราสี เมื่อผสมพันธุ์แล้วนกตัวเมียจะทำรังเป็นรูปถ้วยก้นลึกห้อยลงมาจากง่ามไม้ รังทำจากวัสดุนุ่มจำพวกหญ้าและเปลือกไม้ที่ฉีกเป็นชิ้นๆ มาขัดสานตกแต่งภายนอกด้วยมอสและไลเคนส์ ภายในรองด้วยวัสดุนุ่มๆ อีกชั้นหนึ่ง โดยรังจะซ่อนในพุ่มไม้ใบหนายากต่อการสังเกตเห็น บางครั้งนกตัวผู้อาจช่วยหาวัสดุมาสร้างรังบ้าง เมื่อเสร็จแล้วนกจะวางไข่ครอกละ 2-4 ฟอง เปลือกไข่สีเขียวอ่อนๆมีจุดกระสีคล้ำ เมื่อกกไข่ไปราว13-15 วันลูกนกจะฟักเป็นตัว พ่อแม่นกหาอาหารพวกแมลง หนอน และผลไม้สุกมาป้อน เมื่ออายุราว 2 สัปดาห์ลูกนกก็จะหัดบินได้ สำหรับประเทศไทยนกชนิดนี้เป็นนกที่พบบ่อยมากตามสวนผลไม้ สวนสาธารณะใกล้เมือง ป่าดิบ ป่าผสมผลัดใบ ป่าชายเลนตั้งแต่ช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนเมษายน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นกหนีความหนาวเย็นลงมาจากทางเหนือ อย่างไรก็ตามมีนกชนิดนี้บางส่วนทำรังวางไข่ในประเทศไทยแต่ก็เป็นปริมาณน้อย จังหวัดนครปฐมซึ่งเป็นที่ที่นกมาปรากฏตัวทุกๆ ฤดูหนาว ส่งเสียง แก๊ก ไม่เพราะเสนาะหูลงมาจากต้นไม้เสมอๆ บางครั้งก็มาทำตัวอาละวาดตีกันจนหนวกหูไปหมด | นกแซงแซวหางปลา Black drongo |
นกแซงแซวหางปลา Black drongo เป็นนกที่หาพบได้ง่ายมากๆ และพบอยู่ทั่วไปทั้งประเทศไทย แค่ออกจากเมืองมานิดเดียวก็อาจพบพวกเค้าเกาะตามสายไฟ ต้นไม้บนท้องนา ในสวน ในทุ่ง หรือ บนป้ายบอกทางในพุทธมณฑล เมื่อจับคู่แล้วพวกเค้าจะช่วยกันทำรังรูปถ้วยก้นตื้น ด้วย กิ่งไม้เล็กๆ หญ้าแห้ง รากไม้ และ เส้นใยของพืช ซึ่งนำมาขัดสานกัน แล้วพันรอบรังด้วยใยแมงมุม เพื่อให้รังแข็งแรงขึ้น รังจะอยู่ระหว่างง่ามกิ่งที่ทอดไปตามแนวนอน และ มักจะอยู่ตอน ปลายๆ ของกิ่งด้วย สูงจากพื้นดินตั้งแต่ 4 ถึง 12 เมตร พ่อแม่นกจะช่วยกันกกไข่ และเมื่อออกจากไข่แล้วก็จะช่วยกันเลี้ยงดูลูกนก โดยสำรอกเหยื่อออกมาป้อนลูก | นกพญาไฟเล็ก Pericrocotus cinnamomeous |
นกพญาไฟเล็ก Pericrocotus cinnamomeous มีขนาดตัวจากปลายปากจรดปลายหางประมาณ 16 ซม. ตัวผู้มีหัวและคอสีเทา ลำตัว สะโพก หางด้านใน มีสีส้มออกเหลือง ขนหางเมื่อมองจากด้านหลังของตัวนกเป็นสีเทา และมีมาร์กที่ปีกสีส้มออกเหลืองเช่นเดียวกัน นกพญาไฟชนิดนี้เราจะพบเค้าเป็นครั้งคราวที่พุทธมณฑล โดยเพิ่งมาทราบทีหลังว่า นกที่เราเจอนั้นเป็นนกอพยพ ไม่ใช่นกอพยพที่มาจากประเทศอื่น แต่มาจากภาคอื่นของประเทศ เมื่อถึงเวลาหนึ่งก็จะเจอเค้าที่พุทธมณฑลสักประมาณ 4-5 วัน แล้วเค้าก็จะไป จึงไม่เจอเค้าอีก บางทีเค้าก็อยู่นานกว่านั้น แต่ย้ายที่หากินไป (ก็พุทธมณฑลน่ะ มีพื้นที่ถึง 2,500 ไร่เชียวนะ) บางทีก็พบเค้ามาพร้อมๆ กับนกพญาไฟสีเทาซึ่งมีสถานะเป็นนกอพยพที่พบได้ทั้งประเทศ หากินอยู่บนต้นเดียวกันเลยก็มี
| นกอีแพรดแถบอกดำ pied fantail |
นกอีแพรดแถบอกดำ pied fantail เป็นนกที่หาพบได้ง่ายมากชนิดหนึ่งในประเทศไทย จนเราอาจนึกไม่ถึงว่าเป็นนกที่ไม่มีการกระจายพันทางภาคตะวันตกและทางเหนือของประเทศไทย เป็นนกขนาดเล็กความยาวจากปลายปากจรดหาง 18 ซม. นกทั้งสองเพศสีสันคล้ายกัน นกที่เต็มวัยใต้คอสีขาว ต่อจากสีขาวมีลายพาดสีดำผ่านอกตอนบน ท้องมีสีขาวแกมสีครีม ลำตัวด้านบนสีน้ำตาลเข้ม ปน สีน้ำตาลดำ หัวสีออกดำ คิ้วมีบริเวณที่เป็นสีขาวเล็กน้อย และอาจสังเกตเห็นได้ไม่ถนัดนักเพราะขนโดยรอบยาวปิดบังไว้ หางกางแผ่ออกเป็นรูปพัดปลายขนหางสีขาว อาหารของนกชนิดนี้คือได้แก่แมลงขนาดเล็ก ยุง หนอน โดยจิกกินตามกิ่งไม้ ยอดไม้ และที่พื้น โดยโฉบลงมาจิกกินที่พื้นดิน หรือ กึ่งเดินกึ่งบิน ขณะจับแมลงบนพื้นดิน ขณะหากินบางครั้งส่งเสียงร้อง เพื่อประกาศอาณาเขตของตนไปด้วย | นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ Greater Racket-tailed Drongo |
นกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ Greater Racket-tailed Drongo มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 62 เซ็นติเมตร โดยความยาวครึ่งหนึ่งเป็นความยาวหาง นกแซงแซวชนิดนี้มีสีดำเป็นเงาเหลือบสีน้ำเงินตลอดทั้งลำตัวด้านบน ส่วนลำตัวด้านล่างเป็นสีดำไม่มีเหลือบ มีขนหงอนสั้นๆหนาแน่นที่หน้าผาก ปากหนาสันปากบนโค้งลงและงองุ้มเล็กน้อย มีจุดเด่นที่ทำให้ดูสง่างามมากคือขนหางคู่นอกสุดที่จะยาวยื่นออกมามากและมีขนตอนปลายบิดเป็นเกลียว โดยขนหางนี้จะเริ่มยื่นยาวออกมาเมื่อนกมีอายุครบปีขึ้นไป นกตัวผู้และนกตัวเมียคล้ายคลึงกัน เช่นเดียวกับนกแซงแซวหางปลา นกชนิดนี้สามารถเลียนเสียงของนกและสัตว์หลายชนิดได้ เราสามารถพบนกชนิดนี้ได้ตามป่าทุกประเภท ทั้งป่าผสมผลัดใบ ป่าเต็งรัง ป่าดิบชื้น ป่าดิบแล้ง จากที่ราบต่ำถึงที่ความสูงระดับ 1,700 เมตรจากระดับน้ำทะเล แต่ส่วนมากพบบนที่ราบถึงความสูงไม่เกิน 900 เมตรจากระดับน้ำทะเล นอกจากนี้ยังพบได้ตามป่าชั้นรอง เขตเกษตรกรรม สวนสาธารณะ สวนป่า สวนผลไม้ โดยพบได้ทุกภาคทั่วประเทศไทย โดยอาจพบนกชนิดนี้ตามลำพัง หรืออยู่กับเวฟของนกขนาดกลางหลายชนิด อาหารของนกแซงแซวหางบ่วงใหญ่ ได้แก่แมลงปอ ตั๊กแตน ผีเสื้อกลางคืน ตั๊กแตน แมงเม่า โดยจับอาหารมากินที่กิ่ง หากอาหารตัวโตก็จะใช้เท้าช่วยจับและใช้ปากฉีกกินจนหมด อาหารของนกชนิดนี้ยังรวมไปถึงสัตว์เลื้อยคลานตัวเล็ก นกเล็กๆ และน้ำหวาน | นกกางเขนบ้าน oriental magpie-robin |
นกกางเขนบ้าน oriental magpie-robin เป็นนกที่มีขนาดตัวจากปลายปาก จรดปลายหางประมาณ 19-21 ซม. ตัวผู้มีสีดำเป็นมันเงาตั้งแต่หัว คอหน้าอก หลัง ปีก และหาง มีลำตัวด้านล่างสีขาวตัดกับสีลำตัวด้านบน มีแถบสีขาวตลอดความยาวของปีก ปากและขาสีดำ นกกางเขนบ้านเป็นนกที่พบได้ทั่วไปในประเทศไทย ตั้งแต่ป่าโปร่ง ป่าชายเลน พื้นที่เกษตรกรรม สวนผลไม้ สวนสาธารณะในเมือง และเมืองใหญ่ จากที่ราบถึงความสูง 1,800 เมตร แต่อย่างไรก็ตาม เรามักพบเค้าอยู่ใกล้กับบ้านคนมากกว่าในป่า นกกางเขนเป็นนกที่ขยันหากิน อาหารของเค้าคือ หนอน แมลง หรือผลไม้สุก พวกกล้วยสุก เมื่อกินอิ่มก็จะบินขึ้นไปเกาะที่โล่งๆ สูงๆ อย่างสายไฟ เสาอากาศบนบ้าน และส่งเสียงร้องเจื้อยแจ้ว และเมื่อหิวก็จะลงมาหากินใหม่ แต่ปรกติ มักได้ยินเค้าร้องตอนเช้าๆ ตอนที่ตื่นนอน และตอนเย็นๆ | นกปรอดหัวสีเขม่า sooty-headed bulbul |
นกปรอดหัวสีเขม่า sooty-headed bulbul มีขนทรงพังค์เล็กๆสีดำบนหัว โดยส่วนที่เป็นสีดำนี้จะไล่ลงมาถึงตาทำให้ดูเหมือนใส่ที่ครอบตาแบบจอมโจรโซโร ปากสีดำ แก้มสีเทาออกขาว โดยเป็นสีเดียวกันไปจนถึงท้อง ขนปีกและหลังสีน้ำตาลออกเทา ขนใต้หางบริเวณก้นสีเหลืองส้ม หรือสีแดง ตามแหล่งที่อยู่อาศัย โดยจะพบพวกเค้าได้ทุกภาคของประเทศยกเว้นภาคใต้ มีขนาดตัว20 ซม. ตัวผู้ตัวเมียมีลักษณะเหมือนกัน หากินหนอน แมลงตามสุมทุมพุ่มไม้เป็นฝูง โดยจะอาศัยอยู่ทั้งในสวน ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ และภูเขาสูง | นกสีชมพูสวน Scarlet-backed Flowerpecker |
นกสีชมพูสวน Scarlet-backed Flowerpecker เป็นนกกาฝาก 1 ใน 11 ชนิดที่พบในประเทศไทย มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางเพียง ประมาณ 9 เซนติเมตร ตัวผู้ ตัวเมีย และตัวไม่เต็มวัย มีความแตกต่างทางด้านสีสันชัดเจนมาก กล่าวคือ ตัวผู้จะมีลำตัวด้านล่างสีขาว ด้านข้างของอก หน้าและหางสีดำ ปีกสีดำเหลือบน้ำเงิน มีแถบกว้างสีแดงจากโคนปากด้านบน หัว ท้ายทอย หลัง ตะโพกไปจนถึงขนคลุมหางด้านบน สะดุดตา ปาก ขา เล็บเป็นสีดำ นกชนิดนี้มักจะทำรังวางไข่ช่วงเดือน มกราคมถึงเมษายน ทั้งคู่ช่วยกันทำรัง แต่ตัวเมียจะทำมากกว่า ลักษณะของรังคล้ายกระเป๋าสตางค์ห้อยลงมาจากกิ่งไม้ที่มีใบ มีทางเข้าออกเล็กๆ พอให้ตัวนกเล็กๆ เข้าออกได้อยู่ด้านบน ทำจากหญ้าแห้ง และรากฝอยแห้งๆ รัดเข้าด้วยกันด้วยใยแมงมุม รองรังด้วยเยื่อใยนุ่มๆ รังหาค่อนข้างยากเพราะห้อยติดปลายกิ่งไม้ที่มีใบบังมิดชิดในสวนผลไม้ ชอบทำรังบนต้นไม้สกุลมะม่วง วางไข่ครั้งละ 2-3 ฟอง ขนาด 14 มม.x 10.3 มม. ตัวเมียกกไข่ โดยมีตัวผู้เกาะให้กำลังใจข้างๆ นกสีชมพูสวนเป็นนกประจำถิ่นที่พบได้ง่ายมากๆ กระจายพันธุ์ทั่วประเทศไทย พบได้ตั้งแต่ตามสวนสาธารณะ หมู่บ้านที่พอจะมีต้นไม้ใหญ่ ป่าโปร่ง ป่าละเมาะ สวนผลไม้ และอาจพบได้ตามไหล่เขาที่ระดับความสูงถึง 1,200 เมตรทีเดียว | นกกินปลีคอสีน้ำตาล Brown-throated Sunbird |
นกกินปลีคอสีน้ำตาล Brown-throated Sunbird เป็นนกกินปลีชนิดปากสั้นหางสั้น มีความยาวจากปลายปากจรดปลายหางราว 14 เซนติเมตร นกตัวผู้และตัวเมียแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัดเจนเช่นเดียวกับนกกินปลีส่วนใหญ่ นกกินปลีคอสีน้ำตาลได้ชื่อชนิดมาจากสถานที่ที่พบครั้งแรกคือเมืองมะละกา ประเทศมาเลเซีย มีทั่วโลก 17 ชนิดย่อย ประเทศไทยพบเพียง 1 ชนิดย่อย ซึ่งเป็นชนิดย่อยหลัก นกกินปลีคอสีน้ำตาลมีปากสั้นกว่า โคนปากหนากว่า ขาและเท้าสีเขียวเข้มหรือเหลืองอมน้ำตาล ตาสีแดง วงรอบตาสีเหลือง นกกินปลีอกเหลืองมีปากโค้งยาวสีดำโคนปากเล็กกว่า ขาและเท้าสีดำสนิท ตาไม่แดง มีเส้นสีเหลืองคล้ายคิ้วพาดตาบริเวณด้านบนไม่เป็นวงรอบตา สีสันของลำตัวด้านบนและด้านล่างตัดกันอย่างชัดเจน และมีขลิบสีขาวที่ปลายหางด้านใน อาหารของนกชนิดนี้คือแมลงเล็กๆและน้ำหวานจากดอกไม้ โดยมักพบอยู่โดดเดี่ยว หรือเป็นคู่ หากินตามต้นไม้ที่ออกดอกเต็มต้น เนื่องจากเป็นนกกินปลีปากสั้น บางทีจึงอาจใช้วิธีเจาะรูที่โคนดอกไม้ หรือฉีกกลีบดอกไม้เพื่อกินน้ำหวาน นกกินปลีมีลิ้นที่ม้วนเป็นท่อได้สำหรับดูดน้ำหวานโดยเฉพาะ จึงสามารถกินน้ำหวานจากดอกไม้ได้อย่างง่ายดาย | นกหัวขวานด่างอกลายจุด Fulvous-breasted Woodpecker |
นกหัวขวานด่างอกลายจุด Fulvous-breasted Woodpecker คล้ายนกหัวขวานด่างหัวแดงอกลาย แต่บนหลังมีลายสีขาวมากกว่า ทางด้านท้องมีลายเป็นทางๆน้อยกว่า บนหางมีจุดสีขาวอยู่มาก มีขนาดยาวประมาณ 18 ซ.ม. มักไต่ตามลำต้นไม้ หรือกิ่งไม้ที่ยังยืนต้นอยู่หรือตายซากแล้ว มันจะใช้ปากที่แข็งแรงเคาะกับลำต้นหรือกิ่งไม้ เพื่อให้แมลงเล็กๆที่ซุกซ่อนอยู่ใต้เปลือกไม้หนีออกมา และมันจะจิกกินเป็นอาหาร บางครั้งจะเห็นมันกระโดดไปมาตามกิ่งไม้ บางครั้งจะไต่วนขึ้นไปตามลำต้นด้วยความคล่องแคล่วว่องไว ตัวผู้และตัวเมียต่างกันตรงที่ ตัวผู้บนกระท่องมีสีแดง แต่ในตัวเมียมีสีดำ ถิ่นที่อยู่อาศัย อันดามันส์, เทือกเขาหิมาลัย, อินเดีย, พม่า, ชาว, เขมร, ลาว, เวียดนาม, โคชินไชนาและไทย สำหรับในประเทศไทย มักจะอาศัยในป่าโปร่งและตามสวน มีทางภาคกลาง ภาคเหนือตอนใต้ และภาคตะวันตกเฉียงเหนือ
|